Nudge Technology

Nudge Technology ในงาน HR: จากทฤษฎีสู่การใช้งานจริง

ตามการรายงานของ Gartner ปี 2025 จะเป็นอีกปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกของการทำงานของคน HR ด้วยการเกษียณอายุของแรงงานที่มีประสบการณ์ เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้จัดการหรือผู้นำองค์กร รวมถึงความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่องค์กรต้องเผชิญ Gartner ได้คาดการณ์ 9 เทรนด์สำคัญที่ผู้นำองค์กรและ HR ควรให้ความสำคัญ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ องค์กรจะใช้ “Nudge Technology” เพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกัน เนื่องจากพนักงานในหลายองค์กรมีความพึงพอใจต่อการทำงานร่วมกันลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและการสื่อสารภายในขององค์กร การใช้ AI ในรูปแบบของ “Nudge Technology” สามารถช่วยปรับปรุงการสื่อสารและการทำงานร่วมกันได้และเริ่มเข้ามามีบทบาทในองค์กรรมากขึ้น เช่น การแจ้งเตือนให้พนักงานใช้รูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับเพื่อนร่วมงานแต่ละคน หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับสไตล์การทำงานของทีม เป็นต้น ดังนั้นในยุคที่องค์กรต้องการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตร การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกของพนักงานจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ  หนึ่งในแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจคือ “Nudge Technology” หรือ “เทคโนโลยีการผลักเบา ๆ” ซึ่งถูกพัฒนามาจากศาสตร์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)

Nudge คืออะไร?

“Nudge” หมายถึง การออกแบบทางเลือกหรือสภาพแวดล้อมที่ช่วย “ผลัก” พฤติกรรมของผู้คนไปในทางที่ดี โดยไม่บังคับหรือจำกัดสิทธิ์ เช่น การวางผลไม้ไว้หน้าสุดในแคนทีน เพื่อกระตุ้นให้คนเลือกอาหารสุขภาพมากขึ้น เมื่อ Nudge ถูกนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีในบริบทของ HR เราจะได้ Nudge Technology ที่สามารถ “ผลักเบาๆ” ให้พนักงานตัดสินใจอย่างชาญฉลาด มีส่วนร่วมมากขึ้น และมีพฤติกรรมเชิงบวกที่ส่งเสริมองค์กร

ในโลกของงาน HR ที่ต้องบริหารจัดการคนหลายร้อยถึงหลายพันคน การสื่อสารให้พนักงาน “เลือกทำในสิ่งที่ดี” โดยไม่บังคับ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายองค์กรกำลังเผชิญ Nudge Technology จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นการ “ออกแบบทางเลือก” ให้พนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่รู้สึกต่อต้าน

ตัวอย่างการใช้ Nudge Technology ในงาน HR

1. การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนา (Learning & Development) ระบบสามารถแจ้งเตือน (Notification) หรือแนะนำคอร์สที่เหมาะกับเส้นทางอาชีพของพนักงานในเวลาที่เหมาะสม เช่น ส่งอีเมลแจ้งเตือนว่า “คอร์ส Data Analytics สำหรับ HR เริ่มในอีก 3 วัน” พร้อมปุ่มลงทะเบียนและทางเลือกให้ “ยกเลิกได้” แทนที่จะให้สมัครเอง ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการเข้าเรียน หรือแนะนำคอร์สจากพฤติกรรมการเรียนรู้ก่อนหน้า เป็นต้น

2. การสร้างวัฒนธรรมสุขภาพดี องค์กรสามารถใช้ Nudge เพื่อกระตุ้นให้พนักงานดูแลสุขภาพ เช่น แจ้งเตือนให้ลุกจากโต๊ะทุก 60 นาทีหรือเตือนให้ดื่มน้ำทุก 2 ชั่วโมง เป็นต้น

3. การเพิ่มการมีส่วนร่วม (Employee Engagement) Nudge สามารถใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานแสดงความเห็น หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมองค์กร เช่น ระบบแนะนำให้พนักงานรีวิวหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานทุกไตรมาสหรือแจ้งเตือนเกี่ยวกับกิจกรรมเวิร์คช็อปที่เปิดรับสมัครแบบ early bird เป็นต้น

4. การสรรหาและ Onboarding องค์กรสามารถใช้Nudgeในการรับสมัครและสรรหาบุคลากร เช่น ส่ง Nudges ให้ผู้สมัครที่อยู่ในขั้นตอนสมัครงาน เพื่อเตือนให้อัพโหลดเอกสาร/ทำนัดสัมภาษณ์ (ลด dropout rate) หรือ ใช้ระบบ onboarding ที่ค่อยๆ ป้อนข้อมูลเป็นขั้นตอน พร้อม Nudge แบบ gamification เช่น “กรอกข้อมูลครบ 3 ขั้นตอนแรกแล้ว! คุณใกล้เสร็จ onboarding แล้ว” เป็นต้น

5. การพัฒนาและรักษาคนเก่ง (Talent Management) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของพนักงาน ระบบสามารถใช้ Nudge เพื่อช่วยให้ผู้จัดการทีมตัดสินใจพัฒนาและรักษาคนเก่งได้ทันเวลา เช่น แจ้งเตือนเมื่อพนักงานที่มีศักยภาพเริ่มมี engagement ลดลงหรือแนะนำการสนทนาแบบ one-on-one เชิงพัฒนา เป็นต้น

ทำไม Nudge ถึงได้ผล?

เพราะการตัดสินใจของคนมักได้รับอิทธิพลจากสิ่งเล็ก ๆ ที่อาจมองไม่เห็น เช่น การเลือกตั้งค่าเริ่มต้น (default) หรือการนำเสนอข้อมูล Nudge จึงทำหน้าที่ “ปรับบริบท” โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหญ่โต ทำให้พนักงานไม่รู้สึกว่าถูกควบคุม

ความท้าทายและข้อควรระวัง

องค์กรต้องมีความโปร่งใสในการใช้ Nudge เพื่อไม่ให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่า “ถูกชักใย” นอกจากนั้นการออกแบบ Nudge ต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบุคลิกภาพของพนักงาน และควรหลีกเลี่ยงการใช้ Nudge เพื่อควบคุมหรือชักจูงในเรื่องที่อาจละเมิดจริยธรรม

Nudge Technology ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่คือการใช้ความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์มาสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พนักงานเติบโต และตัดสินใจในทางที่ดีต่อทั้งตัวเองและองค์กร HR ยุคใหม่จึงควรเริ่มมองหาโอกาสใช้ Nudge อย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน มีชีวิตชีวา และมีประสิทธิภาพ การประยุกต์ใช้จริงไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน แค่เริ่มจากแนวคิดการ “จัดวางทางเลือก” ที่ฉลาดขึ้น ก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมในองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งที่มา:

Gartner (2025). The Gartner Top 9 Future of Work Trends for 2025 and Beyond, from https://www.gartner.com/en/webinar/682345/1524481

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

You may use these HTML tags and attributes:

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>